‘เมืองหลวงพระบาง’ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ของวิถีชีวิต ประเพณี และความสวยงามของบ้านเมืองตามแบบฉบับดั้งเดิม

หลวงพระบางเป็นเมืองเล็กๆ ที่มีแผ่นดินอยู่ตรงกลาง โอบล้อมด้วยแม่น้ำสำคัญ 2 สาย คือ แม่น้ำคานและแม่น้ำโขง และมีขุนเขาปกคลุมโดยรอบ

เที่ยวหลวงพระบาง เดินก็ได้ ปั่นจักรยานก็ชิลล์ เช่ามอเตอร์ไซค์ก็ซิ่งได้เร็ว หรือเช่าสามล้อพาเที่ยวก็สะดวกสบายแหล่งท่องเที่ยวในเมืองอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ยกเว้นถ้าอยากชมธรรมชาตินอกเมืองก็ต้องหาเหมารถไป เป็นอีกหนึ่งเมืองปลายทางที่อยากแนะนำสำหรับมือใหม่หัดเที่ยวต่างประเทศเองครั้งแรก เพราะที่นี่เที่ยวง่ายมาก แถมไม่ต้องใช้วีซ่า แค่มีหนังสือเดินทางที่มีอายุใช้งานเหลือไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ก็สามารถเที่ยวได้ 30 วัน ส่วนใครกังวลเรื่องภาษายิ่งไม่เป็นอุปสรรคเพราะเราฟังเขาออกแล้วเขาก็ฟังเรารู้เรื่อง ที่สุดแล้วจะมีปลายทางต่างประเทศสักกี่แห่งที่ใช้เงินหลักพันก็เที่ยวได้แล้ว

รีวิวนี้อยากชวนทุกคนลองละวางจากงานที่เหนื่อยล้า หลีกหนีความวุ่นวายของเมืองหลวง เก็บของใส่กระเป๋า ลอง Delete ข้อจำกัดด้านเวลาออก แล้วเปิดรับความสุขจากการท่องเที่ยวเนิบๆ แบบฉบับ ‘หลวงพระบาง’ กัน อาสาพาเนิบโดย 4 เพื่อนสาว ที่จะเปลี่ยนเป็นขาลุยก็พร้อมไป จะไกลแค่ไหนก็พร้อมบิน จะชวนชิลล์ก็พร้อมสโลว์ … วี๊ดวิ้ว

‘หลวงพระบาง’ ไปไง นอนไหน

บางคนชอบผจญภัยเขาก็เลือกนั่งรถจากประเทศไทยข้ามฝั่งต่อไปเรื่อย เส้นทางที่คนนิยมเดินทางคือข้ามจากจังหวัดหนองคายไปเมืองเวียงจันทน์ และต่อรถนอนไปเมืองหลวงพระบาง ส่วนบางคนมีเวลาน้อยและต้องการความสะดวกสบาย เขาก็เลือกที่จะบินตรง คณะเราเป็นคนส่วนหลังด้วยเหตุผลสั้นๆ เลย ตั๋วเครื่องบินถูก นิยามของนักเดินทางเบี้ยน้อยหอยน้อยก็งี้ (ฮ่าๆ) หากลองเทียบราคาระหว่างการนั่งรถต่อรถกับนั่งเครื่องรวดเดียวใช้เงินพอๆ กันเลย ทุกวันนี้มีสายการบินจากไทยบินตรงหลวงพระบางเยอะมาก  การบินไทย ไทยสมายล์ บางกอกแอร์เวย์ แอร์เอเชีย เลือกได้ตามอัธยาศัย ซึ่งสามาถจองตั๋วเครื่องบินไปหลวงพระบางกับ Traveloka ได้เลย ใช้เวลาบินแค่ 1 ชั่วโมง 30 นาที ก็ถึงปลายทางแล้ว

จองตั๋วเครื่องบินไปหลวงพระบาง ที่ Traveloka คลิกที่นี่

 

ส่วนถ้าถามนอนไหนดี? อย่างที่บอกว่าหลวงพระบางเป็นเมืองเล็กๆ นอนตรงไหนก็ไปมาสะดวก เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีที่พักให้เลือกเยอะมากและมีหลายระดับดาว ตั้งแต่เกสต์เฮ้าส์ รีสอร์ท โรงแรม แถมราคาไม่แพงด้วย แต่ถ้าให้แนะนำก็ควรเลือกที่มีพิกัดใกล้สถานที่เที่ยว ใกล้ที่ทำกิจกรรม คณะเราจึงเลือกพิกัดแถวถนนสักรินท์ เรียกได้ว่าตื่นนอนมาปุ๊บก็ยืนรอใส่บาตรข้าวเหนียวได้ทันที

ดูราคาที่พักในหลวงพระบางราคาพิเศษได้ที่ Traveloka คลิกที่นี่

 

การแลกเงิน

ประเทศลาวใช้ค่าเงิน ‘กีบ’ (LAK) ใครใฝ่ฝันอยากจับเงินล้านมาเที่ยวหลวงพระบางได้จับหลายล้าน (กีบ) เชียว เทียบเท่าเงินไทย 10,000 กีบ ประมาณ 42 บาท โดยค่าเงินกีบหาสถานที่แลกค่อนข้างยากในประเทศไทย ตามธนาคารก็ไม่มีให้แลก วิธีที่ดีที่สุดคือกำเงินบาทไปแลกเงินกีบที่หลวงพระบางเลย มีสถานที่แลกเงินตั้งแต่สนามบินจนถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ หากไม่แลกจะกำเงินบาทเที่ยวเขาก็รับนะ แต่แนะนำแลกไว้บางส่วน เพราะถ้าใช้เงินบาทเขาจะตีราคาสูงกว่าปกติ ส่วนถ้าแลกเงินกีบไว้ก่อนกลับควรแลกคืนให้หมดเลย เพราะในประเทศไทยไม่มีที่รับแลกคืน

หลวงพระบาง 3 วัน 2 คืน

สองเท้าก้าวเดิน สองมือถือกล้อง เดินไปกินไป เดินไปนั่งคาเฟ่ไป นี่คือวิถีเที่ยวของพวกเราตลอด 3 วัน 2 คืน หลวงพระบางเป็นเมืองที่อากาศเย็นสบายกำลังดีตลอดปี การเดินเที่ยวจึงไม่เหนื่อยแถมสนุกสนานด้วย ดังนั้นแล้วรีวิวนี้เราจึงขอรวบรวม 20 พิกัด ที่หากคุณมีแพลนจะมาเนิบๆ หลวงพระบาง แนะนำว่าต้องห้ามพลาด และเชื่อว่าคุณจะหลงรักเมืองนี้อย่างที่พวกเราหลงรัก ‘หลวงพระบาง’

ใส่บาตรข้าวเหนียว

พิกัด: ถนนสักรินท์ (Sakkarine Road)

ลิสต์กิจกรรมที่ควรอยู่ลำดับต้นเมื่อมาเยือนหลวงพระบาง คือ การใส่บาตรข้าวเหนียว เป็นประเพณีปฏิบัติที่งดงามและเป็นเสน่ห์วิถีชีวิตดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาช้านาน เวลาประมาณ 05.00 – 07.00 น. ของทุกวัน พระภิกษุและสามเณรจากวัดต่างๆ จะออกรับบิณฑบาตเรียงแถวยาวหลายร้อยรูป โดยจุดที่คนนิยมมานั่งรอใส่บาตร คือ พื้นที่ตลอดถนนสักรินท์ ซึ่งควรแต่งกายสุภาพ ผู้ชายสวมใส่กางเกงขายาว ส่วนผู้หญิงควรสวมเสื้อแบบสุภาพ ผ้าถุง และผ้าคาดบ่า ซึ่งที่พักส่วนใหญ่จะจัดเตรียมผ้าคาดบ่าไว้ให้นักท่องเที่ยวด้วย


ตลาดเช้า

พิกัด: ตรอกข้างวัดใหม่สุวันนะพูมาราม ถนนศรีสว่างวงศ์ (Sisavangvong Road)

เสียงหัวเราะและรอยยิ้มของผู้คนยามเช้าคงเป็นอีกหนึ่งความน่ารักของคนเมืองนี้ ไม่ว่าเราจะเดินไปตรงไหนเขาต่างทักทายเรา “ซำ บาย ดี” การเดินเที่ยวตลาดเช้าทำให้เราได้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนหลวงพระบางได้เป็นอย่างดี ตลาดเช้าบ้านเขาก็คล้ายคลึงกับตลาดเช้าบ้านเรา เริ่มขายกันตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นไปจนช่วงสาย มีอาหารพื้นเมืองหลากหลายชนิด สะดุดตาที่สุดก็คงเป็นปลาและกบที่ตัวใหญ่มากเหลือเกิน

พระราชวังหลวงพระบาง

พิกัด: ถนนศรีสว่างวงศ์ (Sisavangvong Road)

เมื่อไปเยือนเมืองใดเราก็ควรไปทำความรู้จักกับพื้นเพเมืองเขากันหน่อย ‘พระราชวังหลวงพระบาง’ เป็นอาคารที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมระหว่างฝรั่งเศสและลาว โดยพื้นที่ด้านในเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับจัดแสดงประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ของเมืองหลวงพระบาง และยังเป็นที่ตั้งสำคัญของ ‘หอพระบาง’ หอพระที่ประดิษฐาน ‘พระบาง’ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวหลวงพระบาง

ค่าธรรมเนียมเข้า: 30,000 กีบ

เวลาเปิด-ปิด: ปิดทุกวันอังคาร โดยเปิดให้เข้าชม 2 ช่วงเวลาต่อวัน คือ ช่วงเช้า เวลา 08.00 – 11.30 น. และช่วงบ่าย เวลา 13.30 – 16.00 น.

ตึกสไตล์โคโลเนียล

พิกัด: ถนนสักรินท์ (Sakkarine Road)

เพราะทุกวันคือรันเวย์ นี่ไม่รู้มาเที่ยวหรือมาถ่ายแบบ รู้แต่ว่าพร็อพพร้อมมาก สิ่งที่แต่งแต้มสีสันสวยงามให้กับเมือง คือความสวยงามของตึกรามบ้านช่องตามแบบสถาปัตยกรรมสไตล์โคโลเนียลของฝรั่งเศส ผสมผสานเข้ากับวิถีชีวิตของคนในเมืองได้อย่างลงตัวในย่านถนนสักรินท์ อันเป็นศูนย์รวมของวัด วัง อาคารเก่า ซึ่งบางตึกปัจจุบันดัดแปลงกลายเป็นโรงแรม ร้านกินดื่ม ร้านขายของที่ระลึก ดังนั้นคนที่ชื่นชอบความคลาสสิคของเมืองเก่าไม่ควรพลาดที่จะเก็บคอลเลคชั่นคู่กับตึกหลากสไตล์ เสมือนนางแบบเดินให้เพื่อนถ่ายรูปไปในทุกย่างก้าว

บ้านเจ๊ก

พิกัด: ถนนศรีสว่างวงศ์ (Sisavangvong Road)

ถัดจากตึกสไตล์โคโลเนียลบริเวณถนนสักรินท์ หากเราเดินถัดมาเข้าสู่ถนนศรีสว่างวงศ์ ย่านนี้จะเป็นละแวกที่เขาเรียกกันว่า ‘บ้านเจ๊ก’ ในดั้งเดิมเป็นย่านการค้าและที่อยู่อาศัยของคนเชื้อสายจีน ตึกจึงมีลักษณะเป็นห้องแถวแบบจีนแต่ประดับตกแต่งลวดลายสไตล์ยุโรป จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของตึกในย่านนี้ โดยปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นคาเฟ่ ร้านกินดื่ม คล้ายกับย่านถนนสักรินท์

วัดเชียงทอง

พิกัด: ริมแม่น้ำโขง (Khem Khong Road)

‘วัดเชียงทอง’ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์เด่นที่เราจะพบเห็นเสมอเมื่อกล่าวถึงหลวงพระบาง วัดแห่งนี้ได้รับการยกย่องจากนักโบราณคดีว่าเป็นดั่งอัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมลาว พระอุโบสถในภาษาลาวเรียกว่า ‘สิม’ เป็นหลังคาแอ่นโค้ง ลาดต่ำซ้อนกันสามชั้น ผนังภายในวัดมีลวดลายปิดทองฉลุบนพื้นรักสีดำ ผนังด้านหลังพระอุโบสถที่ตบแต่งด้วยการนำกระจกสี มาตัดต่อกันเป็นรูปต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ ทั้งหมดนี้คือศิลปะแห่งหลวงพระบาง

ค่าธรรมเนียมเข้า: 20,000 กีบ

เวลาเปิด-ปิด: ตั้งแต่เวลา 06.00 – 17.30 น.

วัดแสนสุขาราม

พิกัด: ถนนเชียงทอง (Xieng Thong Road)

คนพื้นเมืองเรียกสั้นๆ ว่า ‘วัดแสน’ เป็นอีกหนึ่งวัดเก่าแก่ของหลวงพระบาง ในช่วงเช้ามืดของทุกวันด้านหน้าวัดแห่งนี้จะเต็มไปด้วยผู้คนที่มาตั้งแถวเรียงรายนั่งรอใส่บาตรข้าวเหนียว เอกลักษณ์เด่นของวัดนี้คือเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่ที่มีเพียงองค์เดียวในหลวงพระบาง

พระธาตุพูสี

พิกัด: ถนนศรีสว่างวงศ์ (Sisavangvong Road)

พระธาตุพูสี ตั้งอยู่บนยอดเขาสูงราว 150 เมตร มีบันไดขึ้นไปยังยอดเขา 328 ขั้น “ก็ว่าตัวเองยังไม่แก่แต่ทำไมเหนื่อย” (ฮ่าๆ) เดินไปสูดยาดมไป แต่พอถึงด้านบนยอดพระธาตุแล้วต้องร้องว้าว! เพราะนอกจากพวกเราตั้งใจจะขึ้นมานมัสการและขอพรพระธาตุพูสีแล้ว พื้นที่ด้านบนยังสามารถมองเห็นวิวเมืองหลวงพระบางมุมสูงแบบ 360 องศา ดังนั้นในช่วงเช้านักท่องเที่ยวจึงนิยมขึ้นมาเพื่อชมพระอาทิตย์ขึ้นและในช่วงเย็นนิยมขึ้นมาเพื่อชมพระอาทิตย์ตกดิน

ค่าธรรมเนียมเข้า: 20,000 กีบ

เวลาเปิด-ปิด: เปิดตลอดวัน

ตลาดมืด

พิกัด: ถนนศรีสว่างวงศ์ (Sisavangvong Road)

เรียก ‘ตลาดมืด’ ก็แปลว่าขายตอนกลางคืน พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คล้ายถนนคนเดินตอนกลางคืนบ้านเรานั่นเอง ตลาดมืดอยู่ด้านล่างติดกับพระธาตุพูสี เปิดขายสินค้าตั้งแต่เวลา 17.00 – 22.00 น. โปรดกำเงินในมือให้แน่นแล้วมีสติกับการช็อปปิ้ง เพราะมีแต่สินค้าน่าซื้อทั้งนั้น ตลาดแห่งนี้เป็นแหล่งรวมสินค้าหัตถกรรมพื้นเมือง งานศิลปะ ไปจนถึงของที่ระลึกรูปแบบต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวได้ช็อปปิ้งกันด้วย

ล่องเรือลำน้ำโขง

พิกัด: ขึ้นเรือได้ที่ท่าเรือห้วยหลวง (Tha Heau Luang Boat Pier)

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไปเรียนรู้สถานที่ทางประวัติศาสตร์ของหลวงพระบางแล้ว เราควรปลีกตัวออกมาชื่นชมธรรมชาติริมสองฝั่งลำน้ำโขงบ้าง สนุกไปกับดีไซน์ของเรือเปิดประทุน พาล่องไปกับสายน้ำ เสียงลม และสายหมอก บอกได้เลยว่าชิลล์

งานหัตถกรรมทอผ้า บ้านช่างฆ้อง

พิกัด: บ้านช่างฆ้อง สามารถเดินทางได้ด้วยรถ หรือเรือ ห่างจากตัวเมืองหลวงพระบาง 7 กิโลฯ

‘บ้านช่างฆ้อง’ เป็นหมู่บ้านงานหัตถกรรมเลื่องชื่อของหลวงพระบาง วิถีชีวิตคนที่นี่หนึ่งสิ่งคือการทอผ้า ผ้าทอที่เราเห็นคนเมืองใส่ลวดลายสวยงาม รวมถึงดัดแปลงเป็นสินค้าที่ระลึกรูปแบบต่างๆ ก็ล้วนมาจากบ้านช่างฆ้องแห่งนี้ เมื่อมีโอกาสมาเยือนหลวงพระบางจึงไม่ควรพลาดที่จะมาชมต้นกำเนิดงานทอผ้าสวยๆ ที่นี่มีการสาธิตวิธีทอผ้าตั้งแต่กระบวนการย้อม จนสำเร็จเป็นผ้าทอผืนงามด้วย

งานหัตถกรรมกระดาษสา บ้านช่างฆ้อง

พิกัด: บ้านช่างฆ้อง สามารถเดินทางได้ด้วยรถ หรือเรือ ห่างจากตัวเมืองหลวงพระบาง 7 กิโลฯ

นอกจากงานทอผ้าแล้ว ‘บ้านช่างฆ้อง’ ยังเป็นแหล่งผลิตกระสาขนาดใหญ่ของหลวงพระบางด้วย กระดาษสาที่ผลิตมานั้นก็นำไปแปรรูปเป็นสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อประดับตกแต่งและใช้งาน ซึ่งลวดลายกระดาษสาของที่นี่เกิดจากการนำธรรมชาติรอบตัวมาก่อเกิดเป็นลวดลายสีสันสวยงามสะดุดตา

นาขั้นบันได

พิกัด: ระหว่างเส้นทางไปน้ำตกตาดกวางสี

ครั้นพอได้ออกนอกเมือง ทำให้เห็นว่าตลอดทางที่รถวิ่งผ่านมีทุ่งนาขั้นบันไดเรียงรายเขียวขจี สะท้อนให้เห็นว่าการทำนาคงเป็นอีกหนึ่งอาชีพหลักของคนที่นี่ ด้วยความที่เป็นเมืองภูเขาจึงได้เห็นการปลูกข้าวลดหลั่นไปตามไหล่เขา ผลผลิตจากนาข้าวเหล่านี้ก็คือข้าวสวยร้อนๆ ที่ไว้ใช้ ไว้กิน สำหรับคนในเมืองนั่นเอง

น้ำตกตาดกวางสี

พิกัด: ห่างจากตัวเมืองหลวงพระบางประมาณ 32 กิโลฯ

‘น้ำตกตาดกวางสี’ ได้รับการขนานนามว่าเป็นสวรรค์กลางป่าของหลวงพระบาง จะมาที่นี่ต้องเหมารถจากในเมืองซึ่งมีให้เลือกต่อรองราคามากมาย นั่งรถประมาณ 1 ชั่วโมงก็ถึงแล้ว เริ่มต้นเส้นทางเดินเข้าน้ำตกด้วยการชมหมีกินใบไผ่ กิน นอน โหนห่วงยาง น่าอิจฉาซะจริง หลังจากนั้นเราและผองเพื่อนก็เดินไปต่อจนถึงจุดสูงสุดของน้ำตก สวยงามตามคำร่ำลือจริงๆ น้ำตกแห่งนี้มีทั้งหมด 4 ชั้น มีความสูงโดยรวมประมาณ 75 เมตร เป็นน้ำตกหินปูน ทำให้น้ำในน้ำตกมีสีเขียวมรกต

ค่าธรรมเนียมเข้า: 20,000 กีบ

เวลาเปิด-ปิด: ตั้งแต่เวลา 06.00 – 17.30 น.

น้ำตกตาดแส้

พิกัด: ห่างจากตัวเมืองหลวงพระบางประมาณ 15 กิโลฯ

เป็นอีกหนึ่งน้ำตกที่หากได้ไปเยือนหลวงพระบางต้องขอแนะนำ การเดินทางก็เหมารถจากในเมืองมาเช่นกัน ในราคาเจรจาต่อรองได้ โดยรถจะจอดที่ ‘บ้านแอน’ หลังจากนั้นต้องเดินเท้าเพื่อไปต่อเรือหางยาวนั่งเข้าไปอีกประมาณ 10 นาที ‘น้ำตกตาดแส้’ เป็นน้ำตกหินปูนขนาดกลาง น้ำไหลลดหลั่นมาเป็นขั้นลงสู่แอ่งน้ำตรงกลาง คนจึงนิยมไปเล่นน้ำคลายร้อนกัน

ค่าธรรมเนียมเข้า: 15,000 กีบ

เวลาเปิด-ปิด: ตั้งแต่เวลา 06.00 – 17.30 น.

ร้านประชานิยม

พิกัด: อยู่ติดริมแม่น้ำโขง ระหว่างถนนสุนันนะบันลัง (Souvannabanlang Road) กับถนนอินทาสม (Inthasome Road)

เดินทางมาช่วงท้ายๆ รีวิวแล้ว จึงไม่พลาดที่จะเก็บตกที่กินอร่อยมาฝาก เรื่องเที่ยวกับเรื่องปากท้องสำคัญสอดคล้องกัน กินดีอยู่ดีเที่ยวก็มีความสุข ขอเริ่มจากร้านแรก ‘ร้านกาแฟยามเช้า’ ที่หากไม่มาเยือนเขาจะหาว่ามาไม่ถึงหลวงพระบางนะ มองซ้ายก็คนไทย มองขวาก็คนไทย ทักทายกันเล็กน้อยและสั่งอาหาร ที่นี่จะมีเมนูยามเช้า ชา กาแฟ ไข่กระทะ ไข่ลวก ข้าวต้ม และเฝอ อร่อยทุกเมนูเลย

ตรอกอาหาร ตลาดมืด

พิกัด: ถนนศรีสว่างวงศ์ (Sisavangvong Road)

ยามค่ำหากอยากทานอาหารแบบเข้าถึงวิถีชีวิตชาวเมืองอย่างแท้จริง ขอแนะนำให้เดินไปที่ตรอกนี้ มีทุกเมนูความแซ่บ ตั้งแต่ร้านข้าวแกง ร้านส้มตำ ร้านปิ้งย่าง ไปจนถึงขนมหวานเย็นชื่นใจปิดท้ายความแซ่บ

Joma Bakery Cafe

พิกัด: ติดที่ทำการไปรษณีย์หลวงพระบาง ถนนเจ้าฟ้างุ้ม (Chao Fa Ngum Road)

ใครที่อยากลิ้มลองกาแฟลาวขนานแท้ ขอแนะนำร้านนี้ เป็นอีกหนึ่งร้านกาแฟดังใจกลางเมือง นอกจากเมนูกาแฟแล้วยังเป็นแหล่งรวมขนมปังสไตล์ฝรั่งเศสรสเลิศ หอมกรุ่นจากเตาแบบสดๆ ร้อนๆ เชียวแหละ

Saffron Coffee

พิกัด: ริมแม่น้ำโขง (Khem Khong Road)

อีกหนึ่งร้านกาแฟสุดชิคริมแม่น้ำโขง กาแฟที่นี่ปลูกและคั่วเองจึงทำให้มีรสชาติและความหอมที่แตกต่างจากที่อื่น บรรยากาศร้านเป็นคาเฟ่ที่รีโนเวทตึกเก่ามาทำเป็นร้านกาแฟออกแบบสไตล์ดั้งเดิม ถือว่าเป็นอีกหนึ่งพิกัดที่ห้ามพลาด

ร้านเฝอ หน้าวัดแสน

พิกัด: หน้าวัดแสนสุขาราม ถนนเชียงทอง (Xieng Thong Road)

ปิดท้ายรีวิวด้วยความอร่อยของเมนูเฝอ ร้านเฝอนี้เป็นร้านเล็กๆ ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดแสน คนเมืองทานกันแน่นร้าน เลยไม่พลาดที่จะแวะชิมบ้าง ร้านนี้ใช้เตาถ่านต้มน้ำซุป ทำให้รสชาติน้ำซุปหวานเข้าถึงความอร่อย แนะนำลองทานเฝอหมู เฝอเนื้อ เนื้อนิ่มมาก

งบประมาณ: 3 วัน 2 คืน สมาชิก 4 คนๆ ละ 5,000 บาท

  • ค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับ (BKK – LPQ) คนละ 2,400 บาท
  • ค่าที่พักโรงแรมสายน้ำคานริเวอร์วิว จำนวน 2 คืน คืนละ 900 บาท เฉลี่ยคนละ 900 บาท
  • ค่ารถ Taxi ไป-กลับ จากสนามบินหลวงพระบางสู่ตัวเมือง คนละ 300 บาท
  • ค่าเหมารถไปน้ำตกตาดกวางสี คนละ 250 บาท
  • ค่าเหมารถไปน้ำตกตาดแส้ คนละ 150 บาท
  • เงินกองกลาง ค่าเรือ ค่าธรรมเข้าสถานที่ ค่ากิน และเบ็ดเตล็ด คนละ 1,000 บาทแหล่งที่มา: https://blog.traveloka.com/th/trip-review/20-checkpoints-in-luang-prabang-3-days-2-nights-5000-baht/