ตักบาตรข้าวเหนียวหลวงพระบาง

ตักบาตรข้าวเหนียวหลวงพระบาง ชาวต่างชาติหลายคนมาเที่ยวหลวงพระบางเพื่อชมภาพการใส่บาตรของชาวบ้านในยามเช้าตรู่ ขณะที่พระสงฆ์หลายร้อยรูปเดินแถวเรียงรายไปทั่วทุกซอกถนนในเมือง โดยมีชาวบ้านแทบทุกบ้านเฝ้าเตรียมใส่บาตรกัน
ในฐานะที่ชาวไทยเป็นชาวพุทธ ชาวไทยหลายคนที่ได้มาเที่ยวเมืองหลวงพระบางนี้ จึงนิยมใส่บาตรร่วมกับชาวหลวงพระบาง บางคนเรียกการตักบาตรแบบชาวหลวงพระบางว่า “ ตักบาตรข้าวเหนียว” เหตุเพราะสังเกตเห็นว่าคนหลวงพระบางใส่บาตรแต่ข้าวเหนียวเปล่า โดยไม่มีกับข้าวเหมือนในเมืองไทย
ตามปกติชาวหลวงพระบางใส่บาตรด้วยข้าวเหนียวเพียงอย่างเดียว เพราะว่าเมื่อพระกลับวัดแล้ว พอถึงเวลาฉัน แต่ละวัดจะเคาะเกราะไม้ไผ่เป็นสัญญาณให้ชาวบ้านรับรู้ ชาวบ้านก็จะยกพาข้าวหรือสำรับกับข้าวที่เตรียมไว้แต่เช้าไปถวายพระที่วัด ซึ่งเรียกว่าการ “ ถวายจังหัน” ดังนั้น การตักบาตรข้าวเหนียวจึงมิได้หมายความว่าต้องการให้พระฉันแต่ข้าวเหนียวแต่เพียงอย่างเดียว
ตักบาตรข้าวเหนียว ของชาวหลวงพระบางนั้น จะเปลี่ยนเวลาไปตามฤดูกาล ให้สังเกตจากเสียงกลองของวัด หากมีเสียงย่ำกลองเมื่อใด แสดงว่าพระสงฆ์เตรียมตัวจะออกบิณฑบาตแล้ว ชาวบ้านจะรีบปูเสื่อตรงริมทางที่พระจะเดินผ่าน ผู้หญิงต้องนุ่งซิ่นและมีแพรเบี่ยงหรือผ้าสไบพาดไหล่ไว้เสมอสำหรับเป็นผ้ากราบพระ ส่วนผู้ชายต้องนุ่งกางเกงขายาวและมีผ้าพาดเช่นกัน และเวลาใส่บาตรจะต้องนั่งคุกเข่า 

ข้อปฏิบัติสำหรับการตักบาตรข้าวเหนียวหลวงพระบางของนักท่องเที่ยวที่ควรรู้ คือ
– นักท่องเที่ยวควรตักบาตรในอาการที่สงบ และสำรวม
– หากไม่ได้ตักบาตรควรเว้นระยะห่างเพื่อให้คณะสงฆ์บิณฑบาตได้สะดวกไม่ขวางทางเดิน
– นักท่องเที่ยวสามารถถ่ายรูปการตักบาตรข้าวเหนียวของหลวงพระบางได้แต่ควรระวังไม่ให้รบกวนพระภิกษุสงฆ์
– นักท่องเที่ยวควรแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย มิดชิดทั้งผู้ชายและผู้หญิง
– นักท่องเที่ยวไม่ควรถูกเนื้อต้องตัวพระภิกษุสงฆ์

เวลาในการตักบาตรข้าวเหนียว
พระสงฆ์จะเริ่มออกบิณฑบาตช่วง 05.30 น. – 06.00 น. โดยประมาณ
(สังเกตได้จากเริ่มมีเสียงกลองตีจากบริเวณวัดเป็นสัญญาณว่าพระจะเริ่มออกเดินบิณฑบาต)